
Enabler of “Learning at the Speed of Business”
Search Results
66 items found for ""
- Active Questions - Employee Engagement
Employee Engagement หรือความผูกพันในงานและองค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรใด ก็อยากส่งเสริมให้บุคลากรที่เป็นคนดีและมีความสามารถมีความรู้สึกผูกพันกับงานและองค์กรในระดับสูง เพราะเป็นหนึ่งในวิธีการที่จะรักษาและผูกใจพวกเขาไว้ และนำไปสู่ผลลัพธ์ของงานที่เป็นเลิศอีกด้วย ความรู้สึกผูกพันที่กล่าวถึงนี้ มีความหมายที่ลึกซึ้งกว่าการทำงานอยู่ในองค์กรนานๆ (Loyalty) เพราะการอยู่ในองค์กรยาวนานไม่ลาออกไปไหน แต่ขาดความกระตือรือร้นในการปฏิบัติหน้าที่ หรือไม่ได้มีทัศนคติที่ดีต่องานและองค์กร อาจทำให้องค์กรเสียประโยชน์มากกว่าที่จะสร้างประโยชน์ร่วมกันระหว่างองค์กรและบุคลากร อย่างไรก็ตาม การประเมินว่าบุคลากรมีความผูกพันกับองค์กรอยู่ในระดับใดนั้น มีแบบประเมินมากมายที่ใช้กันอยู่ ดร. มาแชล โกลด์สมิท (Dr. Marshall Goldsmith) กูรูด้านการโค้ชและพัฒนาภาวะผู้นำระดับโลก มีแนวทางที่น่าสนใจอย่างมาก ในการปรับแบบประเมิน ให้เกิดประโยชน์ในการเพิ่ม Employee Engagement ได้อย่างแท้จริง โดยเทคนิคของท่าน แนะนำว่า การเพิ่ม Employee Engagement เป็นหน้าที่ของทุกคน แต่คำถามที่ใช้ในแบบประเมินโดยส่วนใหญ่ จะเน้นไปที่หน้าที่ขององค์กร ดร. มาแชล โกลด์สมิท แนะนำให้เพิ่มคำถามในแบบประเมิน ที่เปลี่ยนจากคำถามแบบ Passive Questions ซึ่งนำให้เราตำหนิสิ่งแวดล้อมภายนอก ที่เราควบคุมไม่ได้ มาเป็นการใช้คำถาม Active Questions ที่ทำให้เรามีความสุขและมีความสำเร็จมากขึ้น หกคำถามดังกล่าว (Active Questions) มีดังต่อไปนี้ ฉันได้ทำดีที่สุดหรือยัง ในการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนให้ตนเอง ฉันได้ทำดีที่สุดหรือยัง ในการสร้างความคืบหน้าไปสู่การบรรลุเป้าหมาย โดยสำเร็จ ฉันได้ทำดีที่สุดหรือยัง ที่จะทำให้ตนเองมีความสุข ฉันได้ทำดีที่สุดหรือยัง ที่จะทำให้งานที่ทำเป็นงานที่มีความหมาย ฉันได้ทำดีที่สุดหรือยัง ที่จะทำให้ตนเองรักและเต็มที่กับงาน ฉันได้ทำดีที่สุดหรือยัง ในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่นในการทำงาน และร่วมงานกัน จากการศึกษาของ Dr. Marshall Goldsmith ที่มีผู้ร่วมตอบแบบสำรวจ 2,537 คน: 37% ของผู้ที่ถามคำถาม Active Questions กับตนเองเป็นเวลาสองอาทิตย์ รู้สึกดีขึ้นในทุกด้าน 65% บอกว่า ดีขึ้นอย่างน้อยสี่ด้าน 89% บอกว่าดีขึ้นอย่างน้อยหนึ่งด้าน 5% บอกว่าเหมือนเดิม และ 0% บอกว่า แย่กว่าเดิม นั่นหมายความว่า ไม่มีใครบอกว่า "แย่ลง" แม้แต่คนเดียว ดิฉันเชื่อว่า ความรู้สึกและสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากผลพวงของคำถามที่เราถามตนเองเมื่อวานนี้ การตั้งคำถามให้ตนเองจึงมีความสำคัญต่อความสุขของเรา ก่อนปิดท้าย ลองถามตนเองว่า ในการดำเนินชีวิตและการทำงานของเราทุกวันนี้ เคยถามตนเองหรือไม่ ว่าเราทำเพื่ออะไร เพื่อทำงานให้เสร็จสิ้นไปวันๆ เพื่อให้มีเงินทองซื้อหาทรัพย์สินที่ต้องการ หรือเพื่อให้ตัวเราและคนที่เรารักมีความสุขที่ยั่งยืน ©AcComm Group is Thailand’s Leadership Development Affiliate of Dr. Marshall Goldsmith ******************************************
- โค้ชและสอนอย่างไร ให้จำได้
บทความโดย ดร. อัจฉรา จุ้ยเจริญ แต่ละปี องค์กรลงทุนในการพัฒนาบุคลากรในรูปแบบต่าง ๆ ด้วยจำนวนเงินมหาศาล แต่สิ่งที่ได้มาคือ 90% ของความรู้และทักษะที่ได้เรียนรู้มามักจะหายไปภายในหนึ่งปี การศึกษาด้านการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ระบุว่า หากทักษะนั้นยังไม่ได้กลายมาเป็นพฤติกรรม ทักษะนั้นอาจจะค่อยๆ จางหายไป วันนี้ดิฉันจึงขอแชร์แนวทางที่จะช่วยให้ผู้บริหารและผู้จัดการที่ต้องการโค้ชผู้ใต้บังคับบัญชา หรืออยากให้การเรียนรู้และการพัฒนานั้นเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ร่วมกัน หรือตามความคาดหวัง ทำให้จำได้ และนำไปปฏิบัติได้ มีแนวทางอย่างไรบ้าง ความจำ ก่อนอื่นขอกล่าวถึงเรื่องของความจำก่อน เพราะถ้าอยากให้ผู้ได้รับการโค้ชจำได้ และตามมาด้วยการทำได้ เราต้องเข้าใจก่อนว่า การจดจำข้อมูลของคนเราเกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง ขอยกตัวอย่างการเดินทางโดยเครื่องบิน ก่อนออกเดินทาง พนักงานต้อนรับจะสาธิตการใช้อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย และชี้ให้เห็นประตูทางออกฉุกเฉินที่ใกล้ที่นั่งของเรามากที่สุด ท่านเคยสงสัยไหมค่ะ มีผู้โดยสารกี่คนที่ใส่ใจและจำข้อมูลที่สำคัญนั้นได้ ถ้ามีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นจริง เราจะสามารถปฏิบัติตามได้โดยอัตโนมัติ หรือทำอย่างที่พนักงานสาธิตให้เราดูได้หรือไม่ คำตอบคือเราอาจจำอะไรไม่ได้เลย ถ้าเราไม่ได้ใส่ใจในข้อมูลนั้น แต่สำหรับบางท่าน เมื่อได้ยินเสียงพนักงานต้อนรับประกาศว่า ท่านผู้โดยสารโปรดทราบ ความสนใจของท่านถูกดึงดูดไปที่ข่าวสารที่ประกาศออกมา ตัดความคิดอื่นๆ ออกไปชั่วคราว และท่านก็รับข้อมูลที่ประกาศนั้นบันทึกเข้าไปในความจำโดยไม่รู้ตัว โดยสรุปคือ การที่เราจะจำข้อมูล ข่าวสาร อะไรใหม่ๆ ได้ เรามักต้องใส่ใจ หรือจำเป็นต้องมีโฟกัสในเรื่องนั้น ดังนั้น โค้ชที่ดี มักจะช่วยให้โค้ชชี่ใส่ใจ และโฟกัสในสิ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาของเขา สมองส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการจำ และในการสร้างความจำระยะยาว คือ ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) สมองส่วนนี้ทำงานเหมือนกลไกบันทึกข้อมูลลงในคอมพิวเตอร์ และการทำงานของมันต้องอาศัย สมาธิ ความสนใจ นักวิทยาศาสตร์ทางด้านสมองชี้ให้เห็นว่า ความใส่ใจ ความสนใจในสิ่งที่จะเรียนรู้จะทำให้เราจำได้ดี นอกจากนั้น การสลับไปมาระหว่างเรื่องนั้นกับเรื่องนี้ การทำหลากหลายอย่างไปพร้อมๆ กัน (Multitasking) ไม่ส่งผลดีต่อความจำ เช่น ระหว่างเรียน พิมพ์งานไปด้วย ระหว่างอ่านหนังสือ ดูหนังไปด้วย ข้อมูลความจำนั้นๆ ก็จะไม่ต่างไปจากเวลาโทรศัพท์แล้วสัญญาณขาดๆ หายๆ ข้อมูลบางอย่างหายไป โค้ชที่ดี จึงมักจะช่วยให้โค้ชชี่วางแผนในการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เขามีโฟกัสด้วย หรือช่วยค้นหาสิ่งที่จะเป็นอุปสรรคในสภาพแวดล้อม และวางแผนที่จะบริหารจัดการกับสิ่งนั้นล่วงหน้า การสื่อสารข้อมูล การสื่อสารข้อมูลแต่ละครั้งด้วยปริมาณที่พอเหมาะ พอสม ก็สำคัญเช่นกัน เมื่อฮิปโปแคมปัส บันทึกข้อมูลใหม่เข้ามา ต้องการเวลาสองสามนาทีในกระบวนการนำสู่ความจำระยะสั้น การศึกษาด้านสมองระบุว่า จำนวนข้อมูลที่มันจะรับไว้ได้มากสุด อยู่ที่ประมาณยี่สิบนาทีเท่านั้น ดังนั้นการที่ผู้สอนถาโถมข้อมูลหลายชั่วโมงให้ผู้เรียน เป็นวิธีที่ค้านต่อประสิทธิภาพของการช่วยให้ผู้เรียนจำได้คือ ข้อมูลเยอะไปแต่ละครั้ง ยิ่งจำได้น้อย “ยิ่งเยอะ ยิ่งสั้น” ผู้สอนสามารถให้ข้อมูลสัก 15-20 นาที และให้ผู้เรียนได้มีโอกาสทำกิจกรรมบางอย่าง โดยใช้ข้อมูลนั้นสลับไป เช่น ให้แลกเปลี่ยนกันสรุป หรือแม้แต่การพักเบรกก่อน การเชื่อมโยง อีกวิธีที่จะเป็นการช่วยให้ผู้เรียนจำได้ดีขึ้นคือ การเชื่อมโยง ตัวอย่างเช่น เมื่อเราอยากจำชื่อใครให้ได้ เช่น บุคคลนั้นชื่อ ธงชัย (เราก็เชื่อมโยงชื่อบุคคลนี้กับพี่เบิร์ด ธงชัย ศิลปินผู้เป็นขวัญใจของเรา) การศึกษาด้านสมองชี้ว่า หากข้อมูลใหม่ได้รับการเชื่อมโยงกับข้อมูลที่มีอยู่แล้ว ผู้เรียนจะสามารถจำข้อมูลนั้นได้ดีขึ้น นี่จึงเป็นอีกประเด็นที่ผู้สอนช่วยผู้เรียนได้ เช่น เมื่อสอนโมเดลการวิเคราะห์พฤติกรรมคนหลากหลายสไตล์ ก็ควรให้เขาใช้โมเดลนั้นวิเคราะห์คนที่เขารู้จักในชีวิตจริงด้วย ให้เขาเชื่อมโยงว่าคนสไตล์ใดที่เขาร่วมงานด้วยแล้วราบรื่น หรือมีอุปสรรค ใช้กรณีศึกษาที่เขาสามารถใช้โมเดลและประสบการณ์ที่มีในการแก้ไขปัญหา โอกาสในการนำมาปฏิบัติ เมื่อเกิดความจำแล้ว หากสมองไม่ได้ใช้ข้อมูลนั้นอีก มีความเป็นไปได้ที่มันจะถูกลบเลือนไป การช่วยให้ผู้เรียนได้ดึงข้อมูลนั้นขึ้นมาใช้อีกประมาณสามครั้ง จะช่วยให้เขาจำได้ดีขึ้นในระยะยาว เช่น ให้ไปสอนผู้อื่นต่อ สิ่งสำคัญคือ พยายาม ให้เขาเลือกเอง ว่าวิธีใดดีที่สุด มีตัวอย่างเช่น หัวหน้าท่านหนึ่ง โค้ชลูกน้องให้นำการประชุมได้ โค้ชให้เขาตัดสินใจอย่างมีประสิทธิผล เพราะอยากฝึกให้ลูกน้องเป็นผู้นำที่ดี แต่ปรากฎว่าในการประชุมจริง หัวหน้าลุกขึ้นมานำประชุมเองทุกครั้ง ตัดสินใจเองหมดแทบทุกอย่าง ไม่มอบหมายให้ลูกน้องทำ แบบนี้แทนที่จะได้ Multiply การเรียนรู้และความสามารถลูกน้อง อาจทำให้ลูกน้องเซ็งกับการเรียนรู้ในครั้งต่อไป เพราะไม่มีเวทีให้ฝึกเลย แอบมีคำถามในใจว่าจะเรียนไปทำไม ท้ายสุด สิ่งที่ดีงามต่อความจำคือการนอนหลับให้เพียงพอ ซึ่งส่งผลต่อความจำได้เช่นกัน ระหว่างนอนหลับ สมองไม่ได้หยุดทำงาน แต่ยังคงทำหน้าที่ของมันอยู่ เช่น ข้อมูลที่เข้ามาในหัวเราแต่ละวันมากมาย เปรียบเหมือนภายในบ้านที่ข้าวของวางกลาดเกลื่อน บางอย่างก็ต้องเอาออกไปทิ้ง บางอย่างก็ต้องเอาไปเก็บไว้ในที่ที่เหมาะสม การศึกษาด้านประสาทวิทยาเชื่อว่า ระหว่างที่เรานอนหลับ สมองของเรามีกระบวนการจัดการความจำระยะสั้นไปสู่ความจำระยะยาว ขอให้โชคดี โค้ชแล้ว สอนแล้ว จำได้ และทำได้ นะคะ ว่าแล้วก็ขอไปนอนก่อนนะคะ เพื่อระบบความจำที่ดี Good Night ค่ะ (C) Copyright - AcComm Group - All rights reserved.
- Resilience
คืออะไร สำคัญอย่างไร และสร้างได้อย่างไร What is "Resilience"? หมายถึง ความสามารถในการกลับสู่สภาพที่ดี หรือ Ability to “bounce back” เป็นความสามารถในการฟื้นฟูตนเอง เพิ่มความจุของพื้นที่ และคุณสมบัติ ที่ช่วยให้กลับสู่สภาพเดิม ได้เร็วและยืดหยุ่น หลังจากเผชิญความลำบาก ความเครียด สูญเสีย ผิดหวัง และอุปสรรคต่างๆ How to increase "Resilience"? ในช่วงวิกฤติการณ์ต่างๆ และขณะที่เรากำลังเผชิญกับรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป อาจนำไปสู่ความเครียด ความรู้สึกหดหู่ และขาดแรงจูงใจ ดังนั้น การหมั่นเพิ่ม Resilience ให้ตนเอง เป็นสิ่งที่สำคัญ และไม่ควรมองข้าม เพราะนอกจากจะทำให้ผ่อนคลายความเครียดได้แล้ว ยังช่วยให้บุคคลมีวิธีการคิดที่กระจ่างชัดมากขึ้นได้ และก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ได้อย่างราบรื่น เราทุกคนสามารถเพิ่มและเสริมคุณภาพของ Resilience ในตัวเราได้ ผ่านการดูแลตนเองใน สี่ด้านดังนี้ ดูแลสุขภาพร่างกาย (Physical) ดูแลสุขภาพอารมณ์ (Emotional) ดูแลสุขภาพความคิด (Cognitive) ดูแลสุขภาพจิตใจ (Spiritual) เราสามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อเพิ่ม Resilience โดยเฉพาะช่วง WFH 1. ออกกำลัง หรืออย่างน้อย ยืดเส้น ยืดสาย ทุกวัน วันละสัก 10 นาที 2. ระหว่างวัน ทำสมาธิ อยู่เงียบๆ กับตนเองสัก 5 นาที 3. อ่านหรือฟังเรื่องราวเชิงบวก และเป็นประโยชน์ ในการพัฒนา ความคิด และจิตใจตนเอง วันละนิด 4. เพิ่มสีสัน ความสนุก และความคิดสร้างสรรค์ ในการแต่งกาย 5. ให้ความสำคัญกับ อาหารเช้า และอาหารกลางวัน ที่มีประโยชน์ 6. ออกไปเดินเล่น รับอากาศบริสุทธิ์ สัก 10 นาที 7. ช่วยเหลือผู้อื่น หรือทำให้ผู้อื่น มีความสุขอย่างน้อย วันละครั้ง 8. ขอบคุณตนเองทุกวัน ลองทำ Checklist เพื่อลงมือปฏิบัติแปดข้อนี้ ในทุกๆ วัน และสังเกตดูว่า ท่านมีความสามารถฟื้นฟูตนเองได้ดีขึ้น มากน้อย เพียงใด ด้วยรักและห่วงใจ จากแอคคอมกรุ๊ป ติดตามข้อมูล ความรู้ดีๆ ได้ โดย Subscribe รับข้อมูลจาก AcComm Group โทร: 02 197 4588-9 Email: info@aclc-asia.com (C) Copyright - All rights reserved.
- From VUCA to BANI
ที่ผ่าน เราอธิบายความเป็นไปของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซับซ้อน และผันผวน ด้วยคำว่า VUCA (Volatility, Uncertainty, Complexity and Ambiguity) เมื่อปีที่แล้ว มีที่ปรึกษาชาวเยอรมัน จากสถาบัน Institute of the Future ชื่อว่าคุณเสตฟาน กร๊าบไมเออร์ ได้แชร์แนวคิดว่า VUCA นั้นไม่ทันสมัยไปซะแล้วที่จะใช้ในการอธิบายโลกแห่งปัจจุบัน และอนาคตที่จะมาถึง เหตุผลที่เขานำเสนอแนวคิด BANI นี้ เพราะเขาอยากให้ผู้คนมองโลกจากความเป็นจริง ด้วยคำอธิบายของเขา เขาหวังว่า จะช่วยให้เราเตรียมตัว เตรียมใจ และเตรียมพร้อมสำหรับโลกธุรกิจในยุคต่อไปได้ดีขึ้น (Source Credit: Jamais Cascio, professor at the University of California, historian, researcher and member of the Institute for the Future, coined the acronym BANI) B มาจากคำว่า Brittle หมายถึง ความเปราะบางและชำรุดโดยง่าย ดังที่เราเห็นกันอยู่ว่า ธุรกิจที่เคยแข็งแรง มั่นคง ที่เชื่อกันว่า ไม่มีวันจะแตกเป็นเสี่ยงได้ ก็ล้มครืนมาแล้ว ดังนั้นหากเราไม่ระวัง เราจะให้ความสำคัญกับความสำเร็จที่ผิวเผิน จนลืมสังเกตไปว่าเดินเข้าไปใกล้ขอบเหวทุกทีแล้ว เขายกตัวอย่างว่า ระบบที่ค่อยๆเปราะบางมากขึ้นและล้มเป็นโดมิโน มาจากหลายสาเหตุ แต่หนึ่งในนั้นคือความต้องการที่จะตั้งหน้าตั้งตาทำผลกำไรให้สูงสุด โดยไม่คำนึงถึงเรื่องอื่นๆ A มาจากคำว่า Anxious หมายถึง ความวิตก กังวล ร้อนใจ หากท่านใดเคยเรียนหลักสูตรการโค้ชกับแอคคอมกรุ๊ป ก็จะรู้จัก สมองส่วนอมิกดาล่าดี ในสถานการณ์เช่นนี้ อมิกดาล่าที่ทำหน้าที่เหมือนเรดาห์จับจ้องผองภัย ก็ตั้งหน้าตั้งตาจดจ้องไปที่ว่า มหันตภัยครั้งต่อไปจะมาเมื่อไหร่ คนมักจะรู้สึกหมดหนทาง และไม่อยากที่จะตัดสินใจอะไร รีรอให้ผู้อื่นตัดสินใจให้ ซึ่งอาจจะออกมาไม่ดีที่สุดก็ได้ N มาจากคำว่า Non-linear หมายถึงไม่เชื่อมโยงกันเป็นเส้นตรง สิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลกันที่เราเคยคาดการณ์ได้ จะไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เช่น เลยเคยคิดว่า “ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย” อาจจะไม่ใช่อีกต่อไป ทำมากอาจได้น้อย หรือทำมากอาจจะไม่เห็นผลวันนี้ แต่ก็อาจจะเห็นผลดีได้หลังจากเวลาผ่านไป ดังนั้นเราจะใช้แนวคิดว่า “เหตุนี้” จะนำไปสู่ “ผลนั้น” เหมือนในอดีตไม่ได้ ดิฉันคิดว่า แนวคิดนี้จะทำให้บุคคลที่เชื่อในเหตุและผล และใช้ตรรกะในการตัดสินใจเกิดความอึดอัดไม่น้อยเลย I มาจากคำว่า Incomprehensible หมายถึง ยากที่เข้าใจได้ ในขณะที่ความสามารถของคนอีกมากมาย ในการทำความเข้าใจโลกและความเป็นไปต่างๆ อาจยังคงเท่าเดิม แต่ข้อมูล (Data) ต่างๆ กลับมากขึ้นเรื่อยๆ เขาคิดว่า การที่ข้อมูลมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ความคิดของเราโดนถาโถมรุมเร้า และลดประสิทธิภาพลงได้ เขานำเสนอแนวทางรับมือกับ BANI ไว้ดังนี้ เมื่อเราเผชิญกับความเปราะบาง (Brittle) เราจำเป็นต้องมีความสามารถในด้านฟื้นตัวได้เร็ว นั่นคือคำที่ดิฉันเคยย้ำบ่อยๆ ว่ายุคนี้เราต้องการ Resilience เมื่อเราเผชิญกับความรู้สึกวิตก (Anxious) เราต้องใช้ Empathy และ Mindfulness เข้ามาช่วย เมื่อเราเผชิญกับสถานการณ์ที่ Non-linear เราต้องนำบริบทมาวิเคราะห์ และเน้นที่การปรับตัว เมื่อเราเจอกับสิ่งที่เข้าใจได้ยาก (Incomprehensible) เราต้องเพิ่มความโปร่งใส และใช้สัญชาตญานเข้ามาช่วย ส่วนตัวดิฉันคิดว่า แนวคิดของเขาน่าสนใจมาก เพราะเราใช้ VUCA มาเกือบสี่สิบปีแล้ว ในขณะที่โลกเราเปลี่ยนไปมากมายในแทบทุกมิติ ดิฉันเชื่อว่า อะไรที่เราอธิบายได้ มองเห็นได้ ก็จะจัดการได้ง่ายขึ้น คุณสเตฟาน เขาอธิบายภาวะอารมณ์ในระดับบุคคล (Emotional State) ได้ชัดเจนดีอีกด้วยค่ะ จาก VUCA ไป BANI และจะมีอะไรต่อไปอีก ก็ต้องมาดูกันต่อไปนะคะ เรียบเรียงโดย ดร. อัจฉรา จุ้ยเจริญ - info@aclc-asia.com Source Credit: https://stephangrabmeier.de/bani-vs-vuca/
- เรื่อง "ตัดใจ" ทำได้ทันที แล้ว "ตัดสินใจ" ให้ดี ทำอย่างไร
ท่านคิดว่า แต่ละวัน ตั้งแต่ตื่นนอน จนเข้านอน เราตัดสินใจประมาณกี่ครั้ง? คำตอบ: มีการศึกษาที่ระบุว่า ประมาณ 35,000 ครั้ง เรียกว่า ตัดสินใจในแทบทุกการกระพริบตาของเราเลยก็ว่าได้นะคะ แต่ถ้าถี่ขนาดนี้ ก็น่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เข้ามาในชีวิตของเรา เช่น จะใส่เสื้อตัวไหน จะทำผมทรงอะไร จะโทรหาเพื่อนคนไหน แต่ถ้าพูดถึงการตัดสินใจที่ต้องใช้ความคิด พิจารณา ก็อยู่ที่ประมาณ 70 ครั้ง ไม่น้อยเลยเช่นกัน แล้วคนเก่งๆ เขามีวิธีการตัดสินใจอย่างไร ขอสรุปมาแลกเปลี่ยนกัน ดังนี้ค่ะ 1. พวกเขามักทำให้ การตัดสินใจ ที่หยุมหยิม กลายเป็นกิจวัตร ที่ไม่ต้องมาเสียเวลาตัดสินใจ สังเกตไหมว่า Steve Jobs จะใส่เสื้อสีดำคอเต่า และกางเกงยีนส์ คนที่มีชื่อเสียงด้านความสำเร็จในธุรกิจหลายๆคน มักใส่เสื้อ และกางเกงสีเดิม แบบเดิมทุกวัน จนกลายเป็น Personal Brand ไปเลย ดร. มาแชล โกลด์สมิท ก็จะใส่เสื้อโปโลสีเขียวทุกวัน ดิฉันเคยถามท่าน ท่านก็บอกเหมือนกันว่า จะได้ไม่ต้องมาตัดสินใจทุกวัน ว่ากันว่า เพราะเขาไม่ต้องการใช้สมองในการตัดสินใจเรื่องเล็กๆน้อยๆ ให้เปลืองพื้นที่ความคิด เพราะต้องการใช้ศักยภาพสมองทั้งหมดไปในเรื่องที่สำคัญเท่านั้น 2. พวกเขาจะตัดสินใจเรื่องสำคัญ หรือเรื่องที่มีความซับซ้อนในตอนเช้า เพราะเป็นช่วงที่ยังไม่มีอะไรเข้ามาแทรกให้ปวดสมอง 3. พวกเขาจะสังเกต และรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง เพื่อให้แน่ใจว่า จะไม่ตัดสินใจเรื่องที่มีผลกระทบชั่วกาลนาน ด้วยการใช้อารมณ์ชั่ววูบ 4. พวกเขามีการเก็บข้อมูลอย่างชาญฉลาด เพื่อประกอบการ ตัดสินใจที่สำคัญ และถามคำถามหลายรูปแบบกับตนเอง แต่เมื่อถึงเวลาต้องฟันธง ก็ไม่เชื่องช้ายืดเวลาออกไปจนอาจเสีย มากกว่าได้ 5. พวกเขาออกกำลัง อย่างน้อยก็ประมาณ 30 นาทีต่อวัน มีการศึกษาที่สนับสนุนว่าการออกกำลังกาย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของส่วนของสมองที่เกี่ยวกับการตัดสินใจ (ข้อนี้ชอบมาก เป็นแรงจูงใจให้ดิฉันกลับมาออกกำลัง ให้สม่ำเสมอมากๆ เลย ) 6. พวกเขาทำสมาธิสั้นๆ ห้านาที ระหว่างวัน หรือเท่าที่เวลาเอื้ออำนวย ถึงแม้จะยุ่งวุ่นวายระหว่างวันก็ตาม เพื่อรักษาคุณภาพของสติและอารมณ์ 7. พวกเขาเปิดรับความเห็นจากผู้อื่น เช่น โค้ช ที่ปรึกษา หรือคนที่เขาเข้าไปหา เพื่อขอความเห็น พวกเขารับฟัง และนำสิ่งที่เป็นประโยชน์มาใช้ 8. พวกเขามักถามตนเองด้วยว่า สิ่งที่ตัดสินใจนั้นอยู่บนรากฐานของคุณธรรม ความถูกต้องที่พวกเขายึดมั่นหรือไม่ 9. พวกเขามักกลับมาทบทวนถึงการตัดสินใจที่ผ่านมา ไม่ใช่เพื่อการต่อว่าตนเอง แต่เพื่อประเมินและถือเป็นบทเรียน ในการปรับปรุงในครั้งต่อไป หวังว่าจะเป็นประโยชน์ และช่วยให้ทุกท่านลองนำมาใช้ได้ ไม่มากก็น้อยค่ะ เรียบเรียงโดย อาจารย์เจี๊ยบ (อัจฉรา) – AcComm Group (C) Copyright - All rights reserved.
- Creating a Learning Culture - Lifelong Learning
บทความโดย ดร. อัจฉรา จุ้ยเจริญ Creating a Learning Culture การสร้างวัฒนธรรมที่มุ่งมั่น และต่อยอดการเรียนรู้ (Learning Culture) จะช่วยสร้างพื้นฐานอันแข็งแรง ให้บุคคลและองค์กร ในการรับมือกับความซับซ้อน (Complexity) และความไม่แน่นอน (Uncertainty) ทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างราบรื่น ปรมาจารย์ชื่อดัง Peter Senge ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Fifth Discipline: The art and practice of the learning organization ได้ย้ำความสำคัญขององค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) ต่อความยั่งยืนขององค์กร ในยุคที่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) การเพิ่มทักษะ (Upskill) และ การปรับทักษะให้ทำงานที่แตกต่างจากเดิมได้ (Reskill) กำลังเป็นหนึ่งในวาระสำคัญอันดับต้นขององค์กรทั้งในปัจจุบัน และในวิถีชีวิตถัดไป (The Next Normal) องค์กรแห่งการเรียนรู้ที่ Peter Senge ได้กล่าวถึงไว้ตั้งแต่ ปี ค.ศ 1990 จึงกลับมาได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน ปรมาจารย์ Senge ท่านมองในระดับบุคคล ทีม และองค์กร สำหรับดิฉัน คำว่า Learning Culture ในบทความนี้ดิฉันขอมองลงไปในระดับทีมก่อน เพราะการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ดูเป็นเรื่องใหญ่และใช้เวลา แต่ถ้าเรามองแบบสร้าง Quick Win ก่อน คือแต่ละทีมให้ความสำคัญและมุ่งสร้าง Learning Culture ก็จะกลายเป็นพลังร่วมในที่สุดได้ ความหมายของ Learning Culture คำว่า วัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ (Learning Culture) ดิฉันให้คำนิยามว่า เป็นวัฒนธรรมของทีมหรือกลุ่มบุคลากรที่ได้รับการปลูกฝังให้ มีความอยากรู้ อยากเรียน (Curiosity) และได้รับการสนับสนุนจากผู้นำองค์กร ผู้นำทีม มีความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ และได้รับการส่งเสริมด้วยค่านิยมขององค์กร เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ สมรรถนะที่ทันกาลต่อการเปลี่ยนแปลง และผลสำเร็จที่ยั่งยืนขององค์กร เป็นส่วนที่ช่วยให้ Organizational Culture ขยับไปให้ทันกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เพราะวัฒนธรรม (Culture) เมื่อฝังแน่นแล้ว ย่อมเปลี่ยนยาก โดยเฉพาะในช่วงที่องค์กรมีความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ การสร้าง Learning Culture มีประโยชน์จริงหรือ การศึกษาจากสถาบันและองค์กรในระดับสากล มากมายที่ยืนยันว่า ไม่เสียหลายแน่นอน มีผลการศึกษาที่รวบรวมไว้โดยหนังสือชื่อว่า ATD’s Foundation of Talent Development ว่าองค์กรที่มี Learning Culture เป็นองค์กรที่มีผลงานเหนือคู่แข่งจริง ทั้งในด้าน การเงิน การปฏิบัติการ และความพึงพอใจของบุคลากร องค์กรที่มีวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ในระดับสูงแล้ว บุคลากรโดยเฉลี่ยมีผลิตภาพมากกว่าองค์กรที่มีวัฒนธรรมด้านนี้ในระดับต่ำกว่า ถึง 37% มีความสามารถในการสร้างและส่งมอบคุณภาพของสินค้าได้มากกว่า 26% และ มีแนวโน้มที่จะมีทักษะที่จำเป็นต่อธุรกิจมากกว่า 58% โดยสรุป Learning Culture สามารถส่งผลดีต่อ ประสิทธิภาพ (Efficiency) ผลิตภาพ (Productivity) และ ผลกำไร (Profit) องค์กรที่ให้ความสำคัญกับ Learning Culture จะให้ความสำคัญกับทั้งสี่ด้านดังต่อไปนี้ 1. บรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้ : อย่างแรกที่เราดูได้คือ ในวิสัยทัศน์ พันธกิจหรือค่านิยมองค์กรมีการระบุความสำคัญของการเรียนรู้ การพัฒนา หรือการปรับปรุง ไว้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ถ้าเราไปเปิดดูวิสัยทัศน์ขององค์กรอย่างเช่น Amazon, Apple, 3M, Nike เราสามารถเห็นได้ว่า มีการให้ความสำคัญกับการพัฒนา ปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญเมื่อมีทิศทางที่ชัดแล้ว มีการสื่อสารให้บุคลากรทราบมากน้อยแค่ไหน ว่าเรื่องการเรียนรู้เชื่อมโยงและส่งเสริมยุทธศาสตร์องค์กรอย่างไร หากทำได้ดี ทีมงานต่างๆก็จะให้เวลากับการเรียนรู้ทั้งในทีม และระหว่างทีม ไม่ต้องคอยพวงหน้าและระวังหลัง ว่าหัวหน้าฉันจะตัดคะแนนฉันหรือไม่ 2. ความสามารถของบุคคลในการเรียนรู้ : มีการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ มีการสร้างสมรรถนะ Learning Agility ให้กับบุคคล (ความหมายของ Learning Agility ติดตามได้ในบทความเรื่อง Learning Agility) และช่วยอบรมให้เข้าใจว่า จะนำการเรียนรู้ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร 3. บทบาทของผู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้: บทบาทของผู้นำทีมจะมี ความเป็นโค้ช ด้วย องค์กรที่เน้นการเรียนรู้ จะเพิ่มทักษะการเป็นโค้ชหรือการเป็นพี่เลี้ยงให้ผู้บริหารและผู้จัดการทุกระดับ ผู้นำทีมเป็นตัวอย่างที่ดีในการเปิดรับและให้ Feedback บุคลากรเข้าใจว่าตนเองต้องพัฒนาอะไร และมีความรับผิดชอบต่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องของตนเอง หน่วยงานพัฒนา ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือทั้งหัวหน้าและลูกน้อง ในการค้นหาสิ่งสำคัญที่ต้องพัฒนาและสนใจจะพัฒนา และให้ข้อมูลที่ดี จัดหาสิ่งที่ตรงกับความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ 4. การคัดกรองเนื้อหาของสิ่งที่เรียนรู้ : พันธกิจด้านหนึ่งของ Google คือ การจัดระเบียบข้อมูลในโลกนี้และทำให้เข้าถึงได้ง่ายในทุกที่และมีประโยชน์ เราสามารถนำแนวคิดนี้มาใช้ในการสร้างสรรค์และคัดกรองเนื้อหาในการเรียนรู้ในทีมของเราได้ ส่วนผู้ที่เรียนรู้ ก็ต้องมีทักษะการคิดแบบ Critical Thinking เพื่อให้ตนเองคัดกรอง แยกแยะ คัดสรรให้ตนเองในสิ่งที่เป็นประโยชน์ไม่ใช่แค่ระยะสั้น แต่ต้องในระยาวด้วย ค้ดกรองผู้ทำหน้าที่ถ่ายทอด เช่นวิทยากร หรือโค้ชที่เข้ามาช่วยในการเชื่อมการเรียนร้ไปสู่การปฏิบัติ ผู้เรียนควรได้ประสบการณ์ที่ดี มีประโยชน์ต่อทั้งงาน และถ้าจะดียิ่งขึ้นต่อสุขภาพและชีวิตส่วนตัวด้วย จึงอยากเรียนรู้อีก ไม่ควรทำให้ผู้เรียนรู้สึกแบบนี้ “The day I start learning is the day I quit learning!!!” ควรให้ผู้เรียนรู้สึกว่า “The day I start learning is the day I am so inspired to continue learning.” อุปสรรคและปัญหาของทีมส่วนใหญ่ที่ทำให้ Learning Culture ไม่เกิดขึ้น เพราะว่าอะไร ข้อแรกมาจาก ภาวะผู้นำของทีม นั่นคือผู้นำทีมเน้นไปที่การสร้างผลงานในปัจจุบันอย่างเดียว ในบทความเรื่อง ผู้นำตัวคูณ ดิฉันได้เขียนไว้ว่า ผู้นำตัวหารจะมองว่าความสามารถคนว่ามีไว้ใช้งาน ในทาง ตรงกันข้ามผู้นำตัวคูณ จะมองความสามารถคนว่ามีไว้เพื่อเพิ่มและขยายขีดจำกัด ถ้าผู้นำต้องการให้ลูกทีมใช้เวลาทั้งหมด ไปกับการทำงาน โดยไม่โค้ชและไม่ส่งเสริมการเรียนรู้เลย ในที่สุดแล้วชื่อเสียงของทีมก็จะไม่ดึงดูดคนเก่งที่เป็นคนชอบเรียนรู้เข้ามาทำงานด้วย ถ้าในองค์กรมีทีมแบบนี้เยอะๆ ก็จะมีประสิทธิผลแค่ระยะสั้น แต่ความเสียหายในระยะยาวจะสูงมาก ข้อสองคือ ขาดความรู้สึกปลอดภัยในการเรียนรู้ นั่นคือ คนไม่กล้าลองผิด ลองถูก ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นแตกต่างจากผู้อื่น หรือบรรทัดฐานที่เคยเป็นมา เรียกว่าขาดการสร้างความปลอดภัยด้านจิตใจ (Psychological Safety) เช่น เวลาทำงานพลาดครั้งเดียว แต่โดนมองว่าไร้ความสามารถไปตลอด หรือ แสดงความคิดเห็นออกมาแล้วไม่เหมือนคนอื่นๆ แล้วโดนดุจนขายหน้า ถูกเพื่อนๆมองว่าเป็นคนนอกกลุ่ม เป็นต้น ข้อสาม คือบุคลากรไม่มีแรงจูงใจ ที่จะเติบโตและเรียนรู้ การอบรมได้รับการมองว่า เป็นเครื่องมือในการซ่อมแซมผู้ที่มีปัญหา หรือผู้ที่มีผลงานไม่ดี ไม่มีการพัฒนาเชิงรุก หรือถามความสนใจและพรสวรรค์ของผู้เรียน ขาดการสื่อสารว่าสิ่งที่น่าเรียนรู้สำคัญต่อยุทธศาสตร์องค์กรและอนาคตของบุคคลอย่างไร Sustaining A Learning Culture การสร้าง Learning Culture อย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เรายังต้องรักษา (Sustain) ไว้ให้ได้อีกด้วย แนวทางในการรักษาไว้คือ ศึกษาและติดตามการเปลี่ยนแปลงในภาวะแวดล้อม แนวโน้ม พฤติกรรมของลูกค้า และยุทธศาตร์ขององค์กร ปรับรูปแบบการเรียนรู้ให้ยังคงสร้างคุณค่าให้บุคคล ทีมและองค์กรได้อย่างต่อเนื่อง Download บทความ แบบประเมิน Learning Culture และรายละเอียดเพิ่มเติม - click ไปที่ Learning Ecosystem รับฟังการบรรยายเรื่อง Creating a Learning Culture - click Reference: Senge, Peter M. (2006). The Fifth Discipline: The arts & practice of the learning organization. New York : Doubleday. © Copyright - All rights reserved. - AcComm Group