top of page
Writer's pictureAtchara Juicharern, Ph.D.

เรียนรู้เทคนิคการโค้ช

Updated: Jan 14, 2023

บทความโดย ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ


เราทราบดีอยู่ว่า การสนทนาในการโค้ชเน้นการถาม อย่างไรก็ตาม การถามอย่างเดียวอาจไม่ได้เหมาะกับโค้ชชี่ทุกคน ดิฉันเชื่อว่า การหารูปแบบการโค้ชที่เหมาะสมกับบริบทและคุณลักษณะของโค้ชชี่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เช่นการเรียนรู้จากเรื่องราวหรือตัวอย่างดีๆ อีกประการคือ การที่จะโค้ชเก่ง โค้ชก็ควรศึกษาและเรียนรู้กระบวนการต่างๆ ที่สร้างสรรค์อยู่เสมอ เพื่อให้มีวิธีการหลายหลายสำหรับวัตุประสงค์ในการโค้ชที่มีความแตกต่างกัน


โดยธรรมชาติ สมองคนเราเข้าใจ Story ได้เร็วอยู่แล้ว การเชื่อมโยงกับเรื่องราวได้เร็ว ทำให้เกิดความชัดเจน และการอยากลงมือปฏิบัติ อีกทั้งความรู้สึกร่วม ที่ช่วยในการจดจำ


วันนี้เลยอยากยกตัวอย่างเรื่องราวการโค้ชที่ดิฉันมองว่าเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดตัวอย่างหนึ่ง หรือเป็นการสื่อถึงการโค้ชที่สร้างสรรค์ เป็นเทคนิคการโค้ชที่ใช้ได้กับการโค้ชตนเอง และโค้ชผู้อื่นค่ะ


ถ้าคุณเป็นผู้นำหรือหัวหน้าทีม ที่กำลังเหนื่อยหรือสับสนกับหลายสิ่งอย่างที่เข้ามาในชีวิต ลองอ่านบทความนี้เพื่อการโค้ชตนเอง หรือนำมุมมองที่ท่านได้รับจากบทความนี้ไปใช้ในการโค้ชผู้อื่นได้ด้วยค่ะ











ตัวอย่างดังกล่าวเป็นเรื่องราวของผู้บริหารท่านหนึ่งคือ “มาร์ค” ที่กำลังโค้ชลูกสาวของตนเอง “แจ็กกี้” เพื่อให้ลูกสาวเป็นผู้นำที่ดี และบริหารจัดการภารกิจต่างๆ ที่ล้นมือในชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ตัวอย่างดีๆนี้ มาจากหนังสือชื่อ Juggling Elephants เป็นหนังสือติดอันดับขายดี เขียนโดย Jones Loflin และ Todd Musig


คำว่า Juggling หมายถึงการโยนสิ่งของสามสี่อย่างขึ้นไปในอากาศ และเลี้ยงของทุกอย่างให้ไม่ตกลงมาที่พื้น


ทำไม่เราต้อง Juggling เพราะเรามีเพียงสองมือ เราถือทุกอย่างไว้ไม่ได้ บางอย่างตกลงมาบนมือ บางอย่างถูกส่งลอยขึ้นไป เราไม่อยากให้อะไรตกลงมาที่พื้นเพราะจะเกิดความเสียหายได้ เหมือนที่เราเคยเห็นการละเล่นแบบนี้ในหนัง คนเล่นโยนเลี้ยงลูกบอลหลายลูกไว้ได้ และไม่ให้ลูกใดตกลงพื้น






สิ่งที่แจ็กกี้ ผู้เป็นลูกสาว กำลังเผชิญคือ ปัญหากับการรับมือกับหน้าที่การงานที่ถาถมเข้ามา และยังมีเรื่องส่วนตัวอีก เธอกังวลว่า ตนเองจะรับมือไม่ไหวแล้ว เธอไม่รู้ตัวว่ากำลังอยู่ในสถานการณ์ Juggling เข้าแล้ว เธอจึงมาขอคำปรึกษาจากคุณพ่อ


ทว่าคุณพ่อ “มาร์ค” ไม่ได้ให้คำตอบตรงๆ แต่ใช้การแบ่งปันเรื่องราวของหัวหน้าหรือผู้นำของเวทีละครสัตว์ ที่เราเรียกว่า “Ring Master” ในเรื่องนี้ เขาคือ วิคเตอร์ ผู้นำหรือผู้ควบคุมการแสดงละครสัตว์ที่ยิ่งใหญ่อันประกอบไปด้วยการแสดงมากมาย





หากเรานึกถึงการแสดงละครสัตว์ จะเห็นว่า การแสดงมีหลายเวที เช่นการแสดงกายกรรมผาดโผน การแสดงตลก และการแสดงของสัตว์ต่างๆเช่น เสือ สิงโต ช้าง เป็นต้น ที่สำคัญคือ การแสดงทุก ๆ เวที เกิดขึ้นพร้อมๆกัน และเป้าหมายของการแสดงทั้งหมดคือ ผู้ชมต้องชื่นชอบติดใจในทุกเวที และพากันมาดูการแสดงอีก การแสดงทุกเวทีจะต้องไม่มีอะไรพลาด ไม่มีอะไรผิดคิว


แต่ไม่ว่าจะแสดงพร้อมกันสามวง หรือห้าวง เราก็มี Ring Master เพียงคนเดียว! และเขาคือคนที่นอกจากจะแน่ใจว่า ทุกวงมีความสำเร็จในการแสดงและได้รับเสียงปรบมือที่ดังลั่นแล้ว เขายังต้องเป็นผู้ไปเปิดการแสดงแต่ละชุด เมื่อมีการแสดงชุดใหม่ออกมา ในแต่ละเวทีอีกด้วย










อืม!….แล้ววิคเตอร์ทำอย่างไร เขาจึงเป็น Ring Master หรือผู้นำที่ยอดเยี่ยม

สิ่งที่มาร์คถ่ายทอดให้แจ็กกี้ได้เรียนรู้ คือสิ่งที่มาร์คเองได้เคยเรียนรู้จากการนำละครสัตว์ของวิคเตอร์ ผู้ที่เป็น Ring Master หรือผู้ประสบความสำเร็จในการเป็นผู้นำของละครสัตว์ที่ยิ่งใหญ่ แท้จริงแล้ว มาร์คเองก็เคยตกอยู่ในสถานการณ์ Juggling Elephants เช่นเดียวกัน แต่บังเอิญได้มาพบกับวิคเตอร์ และโดยไม่ได้ตั้งใจหรือนัดหมายใดๆ วิคเตอร์กลายเป็นคนที่มาร์คแวะมาพบบ่อยๆ จนเรียกได้ว่ามาร์คยกให้วิคเตอร์เป็นโค้ชไปโดยปริยาย



วิคเตอร์ทำให้มาร์คเกิดปัญญา (Insights) และผ่านพ้นช่วงวิกฤตของชีวิตมาได้ มาร์คค่อยๆเล่าเรื่องของวิคเตอร์ให้แจ็กกี้ฟังครั้งละนิดหน่อย และให้แจ็กกี้ได้สะท้อนถึงเรื่องราวตนเอง ปรับเปลี่ยนมุมมองและวางแผนทุกสิ่งอย่างใหม่ สิ่งที่แจ็กกี้ได้เรียนรู้สรุปได้ดังนี้คือ…..


ทุกเวทีสำคัญไม่แพ้กัน

มาร์คได้เรียนรู้จากการพูดคุยกับวิคเตอร์ระหว่างดูการแสดงละครสัตว์ว่า ที่จริงแล้วทุกๆเวทีมีความสำคัญเท่าๆกัน เปรียบเหมือนสามเวที หรือห่วงสามวงที่เกี่ยวกันไว้ในชีวิต คือหนึ่งเรื่องงาน สองเรื่องความสัมพันธ์กับคนรอบๆตัวเรา และสามเรื่องการพัฒนาและดูแลตนเอง ที่รวมทั้งร่างกายและจิตใจ หากวงใดวงหนึ่งมีปัญหา ก็จะกระทบอีกวงได้ในระยะสั้นหรือระยะยาว ทุกวงมีผลต่อกันและกัน ดังนั้น ผู้นำที่ดีควรใส่ใจกับทั้งสามวงอย่างสมดุล






การ Juggle Elephants เปรียบเสมือนภารกิจ หรือสิ่งที่อยู่ในความดูแลของเรา ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆกัน ทุกเวทีสำคัญไม่แพ้กัน ดังนั้น ทั้งผู้นำและทีมนักแสดงจำเป็นต้องเข้าใจตรงกันก่อน ว่าเป้าหมายคืออะไร วิคเตอร์ให้เวลาในการสื่อสารเป้าหมายเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน จากนั้นการ “เลือกจะทำอะไร และไม่ทำอะไร” และการจัดลำดับความสำคัญ คือสิ่งที่ตามมา และเมื่อทีมเข้าใจเป้าหมาย พวกเขาก็ช่วยวิคเตอร์ได้มาก เพราะการตัดสินใจในการจัดลำดับความสำคัญของเราจะไปในทิศทางเดียวกัน


การวางแผน ว่าอะไรควรอยู่ในแต่ละวง และควรตัดออกไป เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะถ้าเราใส่ทุกอย่างเข้าไป เราคงรับมือไม่ไหว และจากนั้น จัดการแสดงต่างๆ ที่เลือกแล้วเข้าในแต่ละวง มั่นใจว่าการแสดงที่เลือกเข้ามานั้น ช่วยส่งเสริม เติมเต็มและสอดคล้องกับเป้าหมายของละครสัตว์ ผู้นำเข้าไปทบทวนกิจกรรมและรายละเอียดของการแสดงนั้น ๆ เป็นบางครั้ง

หลังจากทบทวน ก็จำเป็นต้องใส่การปฏิบัติบางอย่างเพิ่มลงไปในวงนั้น เพื่อให้เกิดผลสำเร็จ เช่นให้เวลาพูดคุยกับนักแสดงบางคนตัวต่อตัวเพิ่มขึ้น


ความใส่ใจในแต่ละเวที ระหว่างการแสดง

อย่างที่เกริ่นแล้วว่า โดยปกติละครสัตว์จะมีหัวหน้าการแสดงเพียงคนเดียว แต่หัวหน้าไม่สามารถอยู่ในสามเวทีได้ในเวลาเดียวกัน จริงไหม? ดังนั้น กุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของการแสดงคือ มีการแสดงที่มีคุณภาพในทุกๆเวที ไม่ว่าหัวหน้าจะอยู่ที่นั่นหรือไม่ และหัวหน้ารู้ว่าจะไปอยู่ที่เวทีใด ในเวลาใด และจำเป็นต้องตัดสินใจเลือกว่าจะมุ่งความสนใจไปยังการแสดงใดในขณะนั้น


“เมื่อฉันอยู่ในเวทีใด ฉันใส่ใจในเวทีนั้นอย่างเต็มที่ และเมื่อถึงเวลาต้องย้ายไปดูแลเวทีอื่น ฉันต้องปรับตัวเพื่อจะเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว” คำพูดนี้ของวิคเตอร์ สื่อให้เห็นว่า ผู้นำที่ดีรู้ว่าตนเองทำอะไรอยู่ สามารถมีโฟกัส และมีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง สามารถรับมือกับความไม่แน่นอนได้อย่างมีวุฒิภาวะทางอารมณ์

นักแสดง

นักแสดงก็เปรียบเสมือนบุคลากรในทีมงานของเรา ความสัมพันธ์ระหว่างนักแสดงทุกคนกับหัวหน้าละครสัตว์สำคัญมากต่อความสำเร็จ นักแสดงทุกคนจำเป็นต้องทำหน้าที่อย่างถูกต้อง ถูกเวลา เพื่อให้ละครสัตว์ โดยรวมปรากฏออกมาอย่างสำเร็จ


นักแสดงทุกคนสำคัญ และควรต้องปฏิบัติหน้าที่จากต้นจนจบอย่างเต็มที่ (fully engaged) เพื่อให้ทั้งทีมสำเร็จ แต่การทำให้นักแสดงรู้สึกเต็มที่กับงานตั้งแต่ต้นจนจบอย่างมีความสุข มาจากการที่หัวหน้าเองควรรู้จักและทำความเข้าใจนักแสดงคนนั้น เพื่อจะได้ทราบว่าจะสร้างแรงจูงใจให้เขาอย่างไร วิคเตอร์เล่าถึงนักแสดงพฤติกรรมไม่สร้างสรรค์ เบื่อหน่ายราวกับเป็นคนขี้เกียจ แต่เมื่อได้พูดคุยกับเขาจึงได้ทราบว่า เขาเบื่อที่จะแสดงบทเดิมๆ และอยากได้ทำอะไรที่ท้าทายขึ้น วิคเตอร์ให้โอกาสและปรับบทบาทของเขาด้วยความเข้าใจ ผลที่ออกมาคือเขากลายเป็นนักแสดงที่มีคุณค่าต่อทั้งทีม และเป็นคนที่มีความสุขในการทำงาน


ผู้นำ

หัวหน้าละครสัตว์เองมีผลกระทบอย่างมากในการนำและโน้มน้าวไปสู่ความสำเร็จของการแสดงทั้งหมด หัวหน้าเองก็จำเป็นต้องรู้จักพักผ่อน และผ่อนคลายบ้าง นอกจากนั้นจำเป็นต้องเรียนรู้ และได้รับ Feedback หรือคำแนะนำ เพื่อการพัฒนาการแสดงในทุกๆวงของชีวิต หรือในการแสดงทุกเวทีเช่นเดียวกัน เพื่อให้มีการพัฒนาทันกับความคาดหวังของผู้ชมอยู่เสมอ


หนังสือเล่มนี้ สื่อถึงการโค้ชที่น่าสนใจ และใช้ Story ในเส้นทางการโค้ช ตั้งแต่ต้นจนจบ แจ็กกี้เกิดปัญญา (Insights) และแนวทางแก้ไขปัญหาของตน อย่างเป็นขั้นเป็นตอน จากการได้ฟังเรื่องราวการเป็นผู้นำที่ดีของวิคเตอร์ เป็นการถ่ายทอดเคล็ดลับความสำเร็จของมาร์คให้กับ แจ็กกี้ ลูกสาวของเขา ได้อย่างแยบยล เรื่องราวเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน การโค้ชที่ดีควรมีกระบวนการที่สนุก เข้าใจง่าย และสร้างแรงบันดาลใจให้กับโค้ชชี่ในการนำไปปฏิบัติอีกด้วย



ก่อนจบบทความนี้ ก็ขอกลับมาพูดเรื่อง Elephants ซึ่งเปรียบเสมือนกิจกรรมหรืองานที่สำคัญ ที่มีความหมายต่อเป้าหมายของเรา เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เราทราบไหมค่ะ ว่าอะไรคือ งานช้างของเรา และอะไรที่ไม่ใช่ และเราต้องการเป็นผู้นำละครสัตว์ หรือปล่อยให้ละครสัตว์มานำและควบคุมชีวิตเรา


และขอขอบคุณ ผู้นำที่ดีที่สุดคนหนึ่งในชีวิตของดิฉัน เป็นทั้งหัวหน้าและเป็นทั้งโค้ช เธอชื่อ Laurie Lofgren ผู้ที่ให้หนังสือดีๆ กับดิฉันมากมายหลายเล่มในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นวันเกิด วันสำคัญใดๆ รวมถึงหนังสือเล่มนี้ โค้ชที่ดีทำให้เราพัฒนาได้ โดยไม่ต้องถามคำถามเยอะแยะมากมาย แต่รู้ว่าผู้ได้รับการโค้ชชอบที่จะเรียนรู้อย่างไร และสนับสนุนในสิ่งนั้นสม่ำเสมอ


เมื่อคิดย้อนไปว่าเรียนเทคนิคการโค้ชที่ไหนดีที่สุด เรียนจากผู้นำที่ดีของดิฉันท่านนี้นี่เอง ผู้บริหารที่เป็นโค้ชที่ดี มักอยู่ในใจของโค้ชชี่เสมอ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด การโค้ชเริ่มจากสร้างความไว้วางใจ (Trust) แต่เมื่อวางใจแล้ว Trust ที่เกิดขึ้นนั้น ยากที่จะหายไป


Suggested Reading: Juggling Elephants – Jones Loflin and Todd Musig (2007) NY.: Penguin Group


©Copyright – All rights reserved.

Comments


bottom of page