การสร้างวัฒนธรรมการโค้ชในองค์กร - Creating a Coaching Culture
วัฒนธรรมองค์กร (Organizational Culture) คือระบบของค่านิยม ความเชื่อ ทัศนคติ และพฤติกรรมของผู้บริหารและบุคลากรในองค์กร รวมทั้งการสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์ของบุคคลและทีมต่างๆ ในองค์กร ที่มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน
การโค้ช (Coaching) หมายถึงการช่วยให้บุคคล หรือทีมมีการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โดยใช้ความสัมพันธ์แบบคู่คิด และใช้การสื่อสารที่สร้างสรรค์
การสร้างวัฒนธรรมการโค้ช (Creating a Coaching Culture) หมายถึง การสร้างค่านิยม ความเชื่อ ทัศนคติ และพฤติกรรมการโค้ช ให้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของการทำงาน คนส่วนใหญ่ในองค์กรเข้าใจและเห็นความสำคัญของการให้เวลากับการโค้ช และทุกๆคนในองค์กรสามารถเข้าถึงการโค้ชได้ เมื่อต้องการการสนับสนุนหรือพูดคุยกับโค้ช ซึ่งไม่จำเป็นว่า จะเป็นโค้ชจากภายนอกองค์กร แต่เป็นโค้ชภายในองค์กรก็ได้
ขั้นตอนแรกในการสร้างวัฒนธรรมการโค้ชในองค์กร สามารถเริ่มด้วยการประเมินวัฒนธรรมการโค้ชที่เป็นอยู่ ณ. ปัจจุบัน ซึ่งควรประเมินทั้งระดับที่เป็นรูปธรรม มองเห็นได้ และนามธรรมคือสิ่งที่อยู่ในความคิด ความเชื่อ มองไม่เห็น แต่พอสัมผัส รับรู้ได้
การประเมินสถานการณ์ปัจจุบันของ Coaching Culture
จะทราบได้อย่างไร ว่าวัฒนธรรมการโค้ชในองค์กรเกิดขึ้นแล้ว มากหรือน้อย ลองประเมินจากแนวทางดังนี้ค่ะ
รูปธรรม:
ความสำคัญของการโค้ชงานถูกระบุไว้ในกลยุทธ์และพันธกิจขององค์กรของเรา
ทักษะการโค้ชถูกระบุว่าเป็นหนึ่งในสมรรถนะที่สำคัญของผู้บริหารในองค์กรของเรา
ผู้บริหารและผู้จัดการใช้สไตล์การพูดคุยแบบโค้ช ในการประชุม ในการระดมสมอง ในการแก้ปัญหาต่างๆร่วมกันกับทีมงาน หรือระหว่างทีมงาน (นั่นคือถ้ายังใช้การบังคับหรือใครใหญ่ใครอยู่ แสดงว่าวัฒนธรรมการโค้ชยังอยู่ในวงจำกัด ไม่ขยายออกไปมากพอ)
เราได้ระบุความหมายเฉพาะของการโค้ชสำหรับองค์กรเรา ซึ่งเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์ขององค์กรด้วย
เราวางกลยุทธ์และระบบการโค้ชที่ชัดเจน เช่นผู้บริหาร ผู้จัดการ หัวหน้างาน ที่จะทำหน้าที่โค้ช ในองค์กรของเราควรมีสมรรถนะพื้นฐานอะไร และควรเพิ่มเสริมอะไรสำหรับการโค้ชที่เฉพาะเจาะจงว่าเป็นที่ต้องการขององค์กรของเรา
นามธรรม
เรามีความเข้าใจไปในทางเดียวกันว่า คนทุกคนมีศักยภาพและทรัพยากรความสามารถต่างๆกันมากมายในตนเอง
เราเข้าใจว่าคนจะได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว หากเขาได้มีส่วนในการคิดหาคำตอบและทางออกด้วยตนเองด้วย
เราอินและฟินกับการพัฒนาตนเอง (หมายถึงมีความกระตือรือร้นค่ะ)
เรามีแรงจูงใจในการพัฒนาตนเองต่อเนื่อง
เราเชื่อว่า ส่วนใหญ่แล้วการคิดด้วยกัน ดีกว่าคิดคนเดียว
การสร้างวัฒนธรรมการโค้ชในองค์กร ทำอย่างไร
บ้านจะแข็งแรงได้ โครงสร้างของบ้านต้องแข็งแรงก่อน เมื่อมีประเด็นปัญหาภายหลัง เราจะมีรากฐานหรือคนสนับสนุนที่แข็งแกร่ง เปรียบเสมือนมีเสาบ้านที่แข็งแรงสามเสา ดังต่อไปนี้

เสาที่หนึ่ง การโค้ชไม่ควรเป็นแค่นโยบายข้อหนึ่งเท่านั้น และไม่ใช่เป็นเพียงความคิดริเริ่มของหน่วยงาน HR แต่ควรถูกระบุไว้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย พันธกิจ หรือการพัฒนาองค์กรให้สำเร็จ เราควรระบุความหมายเฉพาะการโค้ชสำหรับองค์กรของเราเองว่าคืออะไร ความหมายนี้ควรสะท้อนกลับไปที่ความสำเร็จในวิสัยทัศน์ขององค์กรด้วย
องค์กรมักสร้างแนวร่วมเบื้องต้นและการยอมรับ จากการให้โค้ชมืออาชีพมาโค้ชผู้บริหารระดับสูงก่อน เพื่อให้ได้พิสูจน์ถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการโค้ชด้วยตนเอง และถ้าเห็นประโยชน์แล้ว มักจะช่วยสนับสนุนต่อไป จากนั้นอาจโค้ชให้ท่านเหล่านี้เป็นโค้ชในองค์กรได้ด้วย บางองค์กร
จากประสบการณ์ดิฉัน พอผลลัพธ์ออกมาดี ผู้บริหารเบอร์หนึ่งจะเป็นแม่ทัพใหญ่ด้วยตนเองในการผลักดันวัฒนธรรมการโค้ชและการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้เลยทีเดียว
เสาที่สอง กระบวนการโค้ช สอดคล้องกับการผลักดันการเปลี่ยนแปลงในองค์กร การสร้างวัฒนธรรมการโค้ชไม่ใช่จุดหมายปลายทาง แต่เป็นหนทางที่สำคัญที่จะนำไปสู่ปลายทางที่ต้องการคือ การเพิ่มหรือขยายสมรรถนะความสามารถของผู้บริหาร บุคลากร ทีมงาน องค์กร ให้ปรับเปลี่ยนไปสู่ประสิทธิผลที่สูงขึ้นและยั่งยืน
เสาที่สาม ความเข้าใจที่ตรงกันว่า การโค้ชงานไม่จำเป็นต้องรอให้ HR มาติดตามกระตุ้น แต่มาจาก Line Managers มากกว่า หน้าที่ของ HR คือช่วยสนับสนุนในการสรรหาทักษะ เครื่องมือ ผู้เชี่ยวชาญ โดยที่การริเริ่มโค้ชและการติดตามผลมาจากหัวหน้าของผู้ได้รับการโค้ชเอง บางองค์กรมีความจำเป็นในการพัฒนาคนอย่างรวดเร็วให้ตอบโจทย์ธุรกิจ จึงต้องสร้างโค้ชเต็มเวลาภายในองค์กรขึ้นมา (Internal Coach) และ HR ประสานช่วยจัดคู่โค้ชและโค้ชชี่ให้อย่างเป็นระบบ กลุ่มโค้ชกลุ่มนี้ถูกดึงตัวออกมาจากงานปกติชั่วคราว

เมื่อเสาบ้านแข็งแรง กระบวนการถัดไป คือการเสริมสร้างทักษะพื้นฐานการโค้ชที่ถูกต้องให้ผู้บริหาร ผู้จัดการ หัวหน้างานในองค์กร หากมีทักษะที่ไม่ถูกต้อง เมื่อไปโค้ชแล้วไม่ได้ผล อาจทำให้พวกเขาถอดใจและมองว่าเสียเวลา
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า การเลือกโค้ชของโค้ช ควรดูว่า โค้ชผู้สอนมีการศึกษาด้านการโค้ชมาจากสถาบันที่เชื่อถือได้ มีความรู้ความเข้าใจด้านการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ และความรู้ความเข้าใจในธุรกิจของท่านบ้าง หรือยินดีเรียนรู้เพิ่มเติม
ชมบรรยากาศงานมอบรางวัล Coaching & Mentoring Award สำหรับองค์กรที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในด้านการสร้างวัฒนธรรมการโค้ชในองค์กร คลิก
สนใจเรียนรู้เพิ่มเติม ขั้นตอนการสร้างวัฒนธรรมการโค้ชในองค์กร (Creating a Coaching Culture) กรุณาติดต่อ
แอคคอมกรุ๊ป โทร 02 197 4588 หรือ Email: info@aclc-asia.com
Please Feel free to chat with us or share our tips and techniques with your others.
©Copyright. AcComm Group. All rights reserved.
#การสร้างวัฒนธรรมการโค้ชในองค์กร
#สร้างCoachingCulture
#CoachingCultureคืออะไร
#CoachingCultureสร้างอย่างไร
Comments