top of page
Writer's pictureAtchara Juicharern, Ph.D.

The Habits of Mental Well-being

“ความรู้เป็นสิ่งที่ให้กันได้ แต่อุปนิสัยเป็นสิ่งที่บุคคลต้องสร้างเอง”



หากเรามีคำถามว่า แนวโน้มการโค้ชในปีนี้และอนาคตเป็นอย่างไร ผู้ที่ให้ความสำคัญในการหาคำตอบนี้ในทุกๆปี ก็คือ สหพันธ์โค้ชนานาชาติ สำหรับการสำรวจในปี 2024 นี้ สหพันธ์โค้ชนานาชาติขยายการสำรวจออกไป ครอบคลุมได้ถึง 147 ประเทศ


อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจมากสำหรับในปีนี้คือ สหพันธ์โค้ชนานาชาติเพิ่มหัวข้อการสำรวจใหม่อีกหัวข้อหนึ่ง คือแนวโน้มด้าน Coaching and Mental Well-being โดยมีความสนใจเป็นพิเศษในการติดตามแนวโน้มด้านนี้ รวมถึงอยากเข้าใจว่าเทคนิคและเครื่องมือที่โค้ชใช้ในด้านนี้ เพียงพอหรือมีประสิทธภาพในระดับใด และเพื่อช่วยในการคาดการณ์ความต้องการของโค้ชและผู้ได้รับการโค้ชไปด้วย


ในแบบสำรวจนี้ ให้คำนิยามคำว่า “Mental Well-being” ว่า สุขภาพที่ดีทางจิตใจ ที่รวมไปถึงสภาวะทางอารมณ์และจิตใจที่ส่งผลต่อสุขภาพและความสุข ซึ่งประกอบด้วยความยืดหยุ่น อารมณ์เชิงบวก และการรับมือกับ ความท้าทายในชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ


สหพันธ์โค้ชนานาชาติได้แชร์ผลรายงานจากการสำรวจนี้ เช่น  53% ของผู้ตอบแบบสำรวจ เห็นด้วยว่าบริษัทต่างๆ กำลังพยายามปรับปรุงการสนับสนุนบุคลากรในด้าน Mental Well-being และเล็งเห็นคุณค่าของการลงทุนสนับสนุนบุคลากรในด้านนี้ 


72% ของผู้ที่ประกอบวิชาชีพโค้ช มองว่า ต้องการขยายและเพิ่มประสิทธิผลในเทคนิคการโค้ชของตนเอง ในด้าน Mental Well-being โดยเฉพาะกลุ่มโค้ชที่เป็นรุ่นมิลเลนเนียล (Millennials) และเจนเอ็กซ์ (Gen X) 


(สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม: International Coaching Federation. (2024). 2024 ICF Snapshot Survey, Coaching and Well-Being. Retrieved from  https://coachingfederation.org/free-learning-future-coaching-snapshot)

 

สภาพแวดล้อมการทำงานในปัจจุบัน


เมื่อธุรกิจเริ่มฟื้นตัวและเดินเครื่องใหม่แบบเต็มกำลัง เพื่อชดเชยช่วงที่ชลอตัวไปในช่วง สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19   สิ่งที่ส่งผลต่อการทำงานคือ สภาวะการทำงานที่บุคลากรเผชิญความต้องการด้านผลลัพธ์มากขึ้น เร็วขึ้น และการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านงานและด้านคน และข้อมูลที่เข้ามาหลากหลายทาง


อีกทั้งการทำงานแบบไฮบริดและการทำงานที่บ้าน ยิ่งทำให้แยกชีวิตส่วนตัวและงานออกจากกันได้ยาก ในแต่ละวันมีนัดหมายการประชุมมากขึ้น ทั้งการประชุมที่นัดไว้ กับที่ไม่ได้นัดหมายไว้ นำไปสู่ความรู้สึกเหน็ดเหนื่อย ความวิตก ความกังวล และไม่สามารถคิดในเชิงสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ คนมากมายที่จับสัญญาณนี้ได้และเริ่มจัดเวลาใส่ใจในสุขภาพของตนเอง แต่ก็มีไม่น้อยเลย ที่ละเลยสุขภาวะของตนเอง และสรุปอย่างรวดเร็วว่า ไม่มีเวลาใส่ใจดูแลตนเอง   

 

โดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์ชอบคุยเรื่องที่มองเห็น จับต้องได้ เช่น ผลงานตัวเลข ยอดขาย ดัชนีชี้วัดความสำเร็จ หัวหน้าจึงมักคุยกับลูกน้องในสิ่งที่มองเห็น แต่ไม่ได้คุยลึกถึงสิ่งที่มองไม่เห็นแต่กระทบผลงานเช่น ความวิตก กังวล และการบริหารจัดการสุขภาวะที่เหมาะสมกับวิถีการทำงานในปัจจุบัน

 

องค์กรทั่วไปมีการสื่อสารให้ข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างทีมงานที่มีความมีความพร้อมทั้งความสามารถและสุขภาพ เราจำเป็นต้องมีการสื่อสารและพูดคุยแนวทางการปรับตัว และการดูแลตนเองเพื่อสุขภาวะ ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปด้วย 

 

ถ้าหัวหน้าทีมมีความรู้พอประมาณในด้าน Physical Well-being และ Mental Well-being ก็จะยิ่งดี เพราะจะได้เป็นตัวอย่างที่ดี และกระตุ้นบุคลากรในทีม ไม่ให้ละเลยสิ่งเหล่านี้ไป  

 


สร้างอุปนิสัย


ความรู้เป็นสิ่งที่ให้กันได้ แต่อุปนิสัยเป็นสิ่งที่บุคคลต้องสร้างเอง  ตัวอย่างเช่น หากเราบอกพนักงานว่า “ไม่ว่าจะทำงานที่บ้านหรือสำนักงาน เราควรลุกขึ้นเดินเคลื่อนไหวทุกๆหนึ่งชั่วโมง” ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนอุปนิสัยของตนเองทันที หากบุคคลไม่เห็นคุณค่าในการดูแลสุขภาวะของตนเอง ก็จะไม่สามารถสร้างคุณค่าให้ทีมได้อย่างยั่งยืน

 


เนื่องจากการสร้างอุปนิสัยเป็นเรื่องที่ท้าทาย ความรู้ด้านสุขภาพอย่างเดียวอาจจะไม่พอ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกที่ยั่งยืนได้แท้จริง เราจำเป็นต้องเข้าใจ:

  • เทคนิคการสร้างอุปนิสัยใหม่

  • การจัดการกับอุปสรรคของอุปนิสัยที่ต้องการ

  • ความร่วมมือในการการจัดการกับสภาวะแวดล้อมของตนเองและผู้ร่วมทีม เพื่อส่งเสริมสุขภาวะให้กันและกัน


เนื่องจากสุขภาพร่างกาย อารมณ์ จิตใจ ของบุคคล ปฏิสัมพันธ์ในสังคม และการพัฒนาสติปัญญา เป็นเรื่องที่ส่งผลต่อกันและกัน การพัฒนาสุขภาวะทางจิตใจ จึงเป็นเรื่องที่ต้องคุยแบบคลอบคลุมหลายด้านไปด้วยเช่น

  • สุขภาวะทางกาย (Physical Well-being) เช่น  การดูแลสุขภาพร่างกายของตนเอง  ให้แข็งแรง คล่องแคล่ว มีพลังในการทำสิ่งต่างๆ  

  • สุขภาวะทางอารมณ์ (Emotional Well-being) เช่น การรู้เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึกของตนเองและบริหารจัดการในทางสร้างสรรค์ได้ ไม่ปล่อยให้ความรู้สึกด้านลบติดหนึบอยู่กับตนเอง การบริหารจัดการตนเองเมื่อเผชิญความเครียด ความวิตกกังวล โฟกัสไม่ได้

  • สุขภาวะทางสังคม (Social Well-being) เช่น  การรับฟังและเข้าใจความรู้สึกและมุมมองของผู้อื่น สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบข้าง ทั้งในครอบครัวและที่ทำงาน

  • สุขภาวะทางปัญญา (Intellectual Well-being) เข่น การสร้างความสามารถในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เปิดรับโลกทัศน์ที่เปลี่ยนไป ไม่จำกัดตนเองอยู่ในพื้นที่ง่ายดาย สบายตัว จนส่งผลต่อความไม่สบายใจในที่สุด

 



เมื่อรูปแบบการสร้างผลงาน และสิ่งแวดล้อมในการทำงานเปลี่ยนไป วิธีการดูแลสุขภาวะของตนเอง ก็จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนด้วย สุขภาวะในแต่ละด้าน ส่งผลกระทบต่อกัน และมองข้ามเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปไม่ได้ ที่สำคัญส่งผลกระทบต่อผลงานของทีม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของธุรกิจและองค์กรโดยรวมได้ (Organization’s Health)

 

ในปีนี้ แอคคอมกรุ๊ปได้เตรียมเทคนิคดีๆ ที่จะช่วยให้บุคคลและทีมสร้างอุปนิสัยใหม่ ในรูปแบบการเรียนรู้ที่สนุกและสร้างสรรค์  ครอบคลุมทั้งระดับบุคคล และระดับสิ่งแวดล้อมในทีม ช่วยให้บุคคลและทีมสามารถผสมผสานอุปนิสัยใหม่เข้ากับการทำงานในแต่ละวันได้ เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน


 

©Copyright - AcComm Group








 

Comments


bottom of page