โดย ดร. อัจฉรา จุ้ยเจริญ
ACCOMM GROUP
ปัจจุบัน คนทำงานในองค์กร ทุ่มเททำงานเพื่อสร้างความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงาน ทำได้ ทำถึง จนถึงวันที่พอจะมีพร้อม หรือเกือบทุกอย่าง อะไรที่ใครป้ายยามา บอกว่า “ของมันต้องมี” ก็มีแล้ว แต่ยังมีคำถามกับตนเองว่า ทำไมไม่ค่อยมีความสุข ไม่ค่อยมีแรงจูงใจ เหนื่อยหน่ายไม่อยากลุกไปไหน ก่อนนอนก็วิตกกังวลไปถึงวันพรุ่งนี้ ยามวิกาลเผลอไปนึกถึงเรื่องที่ยังมาไม่ถึง บ้างก็ยาวไปถึงปีหน้า พอคิดไม่ตก ก็ย้อนกลับไปหาอดีตอันขมขื่น วนไป วนมา สรุปคือ มีวันและคืนที่ไม่มีความสุข มากกว่าวันและคืนที่มีความสุข
ช่วงนี้จึงได้รับคำถามว่า “ทำอย่างไรจึงจะเป็นคนเก่งที่มีความสุข” เป็นคำถามที่ธรรมดา แต่ไม่ธรรมดา นักวิทยาศาสตร์อธิบายไว้ว่า สมองของมนุษย์เรา ถูกสร้างมาให้บันทึกความจำแสนสุขแบบเข้ามาแล้วลื่นไหลปรื๊ดออกไปโดยง่าย คือไม่ค่อยเก็บไว้ใช้ประโยชน์ คล้ายๆ อยากจำกลับลืม
แต่ทว่า สมองสามารถบันทึกความจำที่แสนทุกข์ และประสบการณ์อันตรายร้ายกาจเอาไว้แบบฝังแน่น ติดหนึบ คล้ายๆ อยากลืมกลับจำ ความเจ็บแล้วจำนี้ ก็ให้ประโยชน์กับเรานะคะ เพราะทำให้เราหลบหลีกสถานการณ์ที่เราเล็งแล้วว่า มีโอกาสจะออกมาทรงเดียวกัน ใช่หรือไม่ใช่ เราก็เลือกที่จะปลอดภัยไว้ก่อน แต่ด้วยเหตุฉะนี้ จึงทำให้ความวิตก กังวล เข้าครอบงำเราได้ง่าย เพราะความรู้สึกเหล่านี้ วิ่งขึ้นทางด่วนมาหาเราได้ทันทีแบบไม่ต้องบิวด์อะไรมาก แต่ความรู้สึกเปี่ยมสุขที่จะมากู้ภัยให้เรากลับมาใจฟูฟ่อง กลับต้องลุยมาทางถนนที่คับแคบ ขลุขละ กว่าจะมาถึง บางทีก็ช้าไป
อย่างไรก็ตาม คำถามนี้ก็ยังคงเป็นคำถามที่มีคุณค่า เพราะหากเราทำให้ตนเองเป็นคนที่มีความสุขได้มากขึ้น เราก็จะสามารถทำให้คนรอบตัวของเรามีความสุขมากขึ้นไปด้วย
คำถามนี้ ทำให้ดิฉันนึกถึงเมื่อครั้งที่ได้รับเชิญไปเป็นหนึ่งในผู้บรรยายเรื่อง Emotional Intelligence หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ EQ (Emotional Quotient) หมายถึง ความฉลาดด้านอารมณ์ หรือวุฒิภาวะด้านอารมณ์ ที่ฮ่องกง ซึ่งจัดขึ้นโดย Hong Kong General Chamber of Commerce ร่วมกับ Hongkong Telecom CSL ดิฉันได้ทานข้าวกลางวันร่วมกับผู้บรรยาย และผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้จากหลายประเทศ และนับว่าโชคดีมาก ที่ได้นั่งติดกับ ดร. แดเนียล โกลแมน ปรมาจารย์และนักเขียนหนังสือที่ขายดีที่สุดในด้านนี้คือ หนังสือที่ชื่อว่า Emotional Intelligence และเป็นผู้พัฒนาแบบประเมินสมรรถนะด้านวุฒิภาวะทางอารมณ์ อีกทั้งเป็นผู้เชื่อมโยงเรื่อง EQ เข้ากับประสิทธิผลของผู้นำ นั่นเป็นโอกาสให้ดิฉันได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการพัฒนาต่างๆ รวมถึงเรื่อง EQ
ดร. โกลแมน กล่าวว่า ถึงแม้ IQ (Intelligence Quotient) หรือความฉลาดทางสติปัญญา การคิดวิเคราะห์
การคำณวน เป็นสิ่งที่จำเป็นในการเรียนรู้ และต่อความสำเร็จในการก้าวเข้ามาสู่การทำงานและสร้างความก้าวหน้า แต่คุณสมบัติด้าน EQ คือตัวบ่งบอกที่ดีกว่า ว่าคนเราจะก้าวต่อไปสู่ความสำเร็จที่มากยิ่งขึ้น โดยก้าวต่อไปอย่างมีความสุขได้อย่างไร
หากจะกล่าวถึงการนำ EQ มาใช้ในชีวิตประจำวัน เราพอจะแบ่งออกเป็นสองด้านได้คือ หนึ่ง ในด้านบริหารจัดการตนเอง และสอง ในด้านสังคม
EQ ในด้านการบริหารจัดการตนเอง มีคุณสมบัติย่อย เช่น:
รู้จักตนเอง ตระหนักในข้อดีข้อเสียของตน เปิดรับ Feedback เพื่อเป็นกระจกสะท้อนให้ตนเอง โดยไม่เคืองใจ รู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง และมีความมั่นคงทางอารมณ์
สามารถบริหารจัดการตนเอง ซึ่งรวมถึง การแสดงออกที่เหมาะสมในภาวะอารมณ์บูด แสดงออกอย่างน่านับถือ ในสภาวะแวดล้อมที่แปลกใหม่ ไม่คุ้นเคย เช่นการนำเสนอกับกลุ่มคนที่แปลกหน้า แปลกตา ก็สามารถบริหารอารมณ์และการแสดงออกของตนเอง ออกมาอย่างมั่นใจและให้เกียรติผู้อื่น
เข้าใจตนเอง รู้จักผ่อนคลาย สร้างสุขภาวะให้ตนเองได้ สามารถสร้างแรงจูงใจให้ตนเองได้ ไม่ต้องพึ่งหรือรอให้คนอื่นมากระตุ้น ผิดหวังเมื่อไหร่ ไม่เซ็งและไม่ซึมนานจนเกินไป เข้าใจความหมายที่แท้ทรูของการใช้ชีวิต
สามารถตัดสินใจได้สอดคล้องกับสถานการณ์ เปิดรับการเปลี่ยนแปลง มีความยืดหยุ่นของอารมณ์ (Emotional Agility) ไม่ยึดติด ถือมั่นกับข้อได้เปรียบที่เคยได้รับในอดีต เข้าใจว่าความเป็นจริงของชีวิตคือ เมื่อใดที่ควบคุมสภาวะแวดล้อมไม่ได้ เราก็ควรหันมาใช้เวลาในการพัฒนาจิตใจของตนเอง ให้อยู่กับสถานการณ์นั้นอย่างมีความสุข และใช้โอกาสนั้นเป็นการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง
EQ ในด้านสังคม มีคุณสมบัติย่อย เช่น:
การรับฟังด้วยความจริงใจที่จะฟัง และความสามารถในการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น
ในการทำงานในทีม สามารถเข้าใจมุมมองของผู้ที่คิดต่างได้ ทว่า เมื่อไม่เห็นด้วยจริงๆ ก็จะพูดตรงๆ แบบให้เกียรติอีกฝ่าย และเนื่องจากรับฟังอีกฝ่ายจนเข้าใจ จึงมักเป็นผู้ที่มีวิธีการโน้มน้าวที่ชงัดงัน และสะกดใจฝ่ายตรงข้ามให้คล้อยตามได้
มีทักษะการสื่อสารที่คำนึงถึงความเข้าใจของผู้รับสารเป็นสำคัญ
มีทักษะการสร้างสัมพันธภาพและเครือข่ายสายสัมพันธ์
มีทักษะในการบริหารจัดการความขัดแย้งที่ซับซ้อนและยุ่งยากได้ โดยใช้การถอดรหัสไปทีละขั้น ไม่รีบร้อน แต่มองหาคุณค่าที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว
กลับมาที่เรื่องของความสุขนะคะ ดิฉันเชื่อว่า เรามีแนวทางและเส้นทางไปสู่ความสุขได้อีกหลายวิธี เพียงแต่วันนี้ดิฉันชวนคุยในมุมของการสร้างสุขในการทำงานในองค์กร ด้วยการพัฒนาทักษะด้าน EQ ให้กับตนเอง ขอย้ำว่า เราต้องลงมือทำด้วยตัวเราเอง
EQ เป็นทักษะที่พัฒนาได้ ในการพัฒนา เราสามารถแบ่งเป็นสามช่วง ช่วงแรกจะท้าทายหน่อย เพราะ อารมณ์ของเรา อยู่เฉยๆ นั่งนิ่งๆ ไม่ค่อยได้ เราจึงต้องเริ่มจากการตามมันให้ทันก่อน จึงจะบริหารจัดการมันได้ และใช้อารมณ์อันควบคุมยากนี้ ในทางสร้างสรรค์กับตนเองให้มากที่สุด การเรียนรู้ประมาณ 14 ชั่วโมง หรือสองวัน จะทำให้เราเข้าใจเทคนิคต่างๆ
ช่วงที่สอง เป็นการประเมินความคืบหน้า ว่าเส้นทางการบริหารอารมณ์ใหม่ได้รับการปลูกสร้างในสมองของเรามากน้อยแค่ไหน ทางด่วนของสมองความสุขสร้างไปถึงไหนแล้ว การกลับมาพบกัน มาคุยกัน เป็นรูปแบบ Group Coaching
ช่วงที่สาม กลับมาคุยกันสบายๆ แบบ Group Coaching อีกครั้ง หลังจากประเมินกว้างออกไปถึงคนรอบตัวด้วย ว่าพวกเขาเห็นการเปลี่ยนแปลงของเรามากน้อยแค่ไหน และคุยกันว่าเราจะลงหลักปักฐานฝังลึกทักษะ EQ เพื่อ ความสุขของเรา และคนรอบๆตัวเรา อย่างต่อเนื่องได้อย่างไร
“In a very real sense we have two minds, one that thinks and one that feels.”
- Daniel Goleman
©Copyright - AcComm Group
#EQคืออะไร
#อบรมทักษะEQ
Comentarios