ที่ผ่าน เราอธิบายความเป็นไปของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซับซ้อน และผันผวน ด้วยคำว่า VUCA (Volatility, Uncertainty, Complexity and Ambiguity)
เมื่อปีที่แล้ว มีที่ปรึกษาชาวเยอรมัน จากสถาบัน Institute of the Future ชื่อว่าคุณเสตฟาน กร๊าบไมเออร์ ได้แชร์แนวคิดว่า VUCA นั้นไม่ทันสมัยไปซะแล้วที่จะใช้ในการอธิบายโลกแห่งปัจจุบัน และอนาคตที่จะมาถึง เหตุผลที่เขานำเสนอแนวคิด BANI นี้ เพราะเขาอยากให้ผู้คนมองโลกจากความเป็นจริง ด้วยคำอธิบายของเขา เขาหวังว่า จะช่วยให้เราเตรียมตัว เตรียมใจ และเตรียมพร้อมสำหรับโลกธุรกิจในยุคต่อไปได้ดีขึ้น
(Source Credit: Jamais Cascio, professor at the University of California, historian, researcher and member of the Institute for the Future, coined the acronym BANI)
B มาจากคำว่า Brittle หมายถึง ความเปราะบางและชำรุดโดยง่าย ดังที่เราเห็นกันอยู่ว่า ธุรกิจที่เคยแข็งแรง มั่นคง ที่เชื่อกันว่า ไม่มีวันจะแตกเป็นเสี่ยงได้ ก็ล้มครืนมาแล้ว ดังนั้นหากเราไม่ระวัง เราจะให้ความสำคัญกับความสำเร็จที่ผิวเผิน จนลืมสังเกตไปว่าเดินเข้าไปใกล้ขอบเหวทุกทีแล้ว เขายกตัวอย่างว่า ระบบที่ค่อยๆเปราะบางมากขึ้นและล้มเป็นโดมิโน มาจากหลายสาเหตุ แต่หนึ่งในนั้นคือความต้องการที่จะตั้งหน้าตั้งตาทำผลกำไรให้สูงสุด โดยไม่คำนึงถึงเรื่องอื่นๆ
A มาจากคำว่า Anxious หมายถึง ความวิตก กังวล ร้อนใจ หากท่านใดเคยเรียนหลักสูตรการโค้ชกับแอคคอมกรุ๊ป ก็จะรู้จัก สมองส่วนอมิกดาล่าดี ในสถานการณ์เช่นนี้ อมิกดาล่าที่ทำหน้าที่เหมือนเรดาห์จับจ้องผองภัย ก็ตั้งหน้าตั้งตาจดจ้องไปที่ว่า มหันตภัยครั้งต่อไปจะมาเมื่อไหร่ คนมักจะรู้สึกหมดหนทาง และไม่อยากที่จะตัดสินใจอะไร รีรอให้ผู้อื่นตัดสินใจให้ ซึ่งอาจจะออกมาไม่ดีที่สุดก็ได้
N มาจากคำว่า Non-linear หมายถึงไม่เชื่อมโยงกันเป็นเส้นตรง สิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลกันที่เราเคยคาดการณ์ได้ จะไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เช่น เลยเคยคิดว่า “ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย” อาจจะไม่ใช่อีกต่อไป ทำมากอาจได้น้อย หรือทำมากอาจจะไม่เห็นผลวันนี้ แต่ก็อาจจะเห็นผลดีได้หลังจากเวลาผ่านไป ดังนั้นเราจะใช้แนวคิดว่า “เหตุนี้” จะนำไปสู่ “ผลนั้น” เหมือนในอดีตไม่ได้ ดิฉันคิดว่า แนวคิดนี้จะทำให้บุคคลที่เชื่อในเหตุและผล และใช้ตรรกะในการตัดสินใจเกิดความอึดอัดไม่น้อยเลย
I มาจากคำว่า Incomprehensible หมายถึง ยากที่เข้าใจได้ ในขณะที่ความสามารถของคนอีกมากมาย ในการทำความเข้าใจโลกและความเป็นไปต่างๆ อาจยังคงเท่าเดิม แต่ข้อมูล (Data) ต่างๆ กลับมากขึ้นเรื่อยๆ เขาคิดว่า การที่ข้อมูลมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ความคิดของเราโดนถาโถมรุมเร้า และลดประสิทธิภาพลงได้
เขานำเสนอแนวทางรับมือกับ BANI ไว้ดังนี้
เมื่อเราเผชิญกับความเปราะบาง (Brittle) เราจำเป็นต้องมีความสามารถในด้านฟื้นตัวได้เร็ว นั่นคือคำที่ดิฉันเคยย้ำบ่อยๆ ว่ายุคนี้เราต้องการ Resilience
เมื่อเราเผชิญกับความรู้สึกวิตก (Anxious) เราต้องใช้ Empathy และ Mindfulness เข้ามาช่วย
เมื่อเราเผชิญกับสถานการณ์ที่ Non-linear เราต้องนำบริบทมาวิเคราะห์ และเน้นที่การปรับตัว
เมื่อเราเจอกับสิ่งที่เข้าใจได้ยาก (Incomprehensible) เราต้องเพิ่มความโปร่งใส และใช้สัญชาตญานเข้ามาช่วย
ส่วนตัวดิฉันคิดว่า แนวคิดของเขาน่าสนใจมาก เพราะเราใช้ VUCA มาเกือบสี่สิบปีแล้ว ในขณะที่โลกเราเปลี่ยนไปมากมายในแทบทุกมิติ ดิฉันเชื่อว่า อะไรที่เราอธิบายได้ มองเห็นได้ ก็จะจัดการได้ง่ายขึ้น
คุณสเตฟาน เขาอธิบายภาวะอารมณ์ในระดับบุคคล (Emotional State) ได้ชัดเจนดีอีกด้วยค่ะ
จาก VUCA ไป BANI และจะมีอะไรต่อไปอีก ก็ต้องมาดูกันต่อไปนะคะ
เรียบเรียงโดย ดร. อัจฉรา จุ้ยเจริญ - info@aclc-asia.com
Source Credit: https://stephangrabmeier.de/bani-vs-vuca/
Comments