AI (Artificial Intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ หมายถึงความฉลาดเทียมที่สร้างขึ้นให้กับสิ่งที่ไม่มีชีวิต มีคำถามว่า วันนี้และในอนาคต AI สามารถเข้ามาแทนการทำงานต่างๆ ที่ทำโดยมนุษย์ได้ขนาดไหน รวมทั้งจะเข้ามาแทนบทบาทหน้าที่ของโค้ชที่เป็นมนุษย์ด้วยหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่เราจะได้ยินว่า ทักษะการโค้ชเป็นทักษะที่ต้องใช้ความเป็นมนุษย์ค่อนข้างมาก เช่น ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น (Empathy) การรับฟังเชิงลึกทั้งสิ่งที่บุคคลพูดออกมา และไม่ได้พูดออกมา
ในมุมมองของเรา เราคิดว่า วิวัฒนาการของ AI สามารถทำให้ AI เข้ามาแทนงานบางส่วนที่เราทำ หรือบางงานอาจจะสามารถแทนได้ทั้งหมด โดยเฉพาะงานที่ทำซ้ำๆ กันทุกวัน
สิ่งที่เราสนใจมากกว่าคือ แล้วเราจะใช้ AI ให้เกิดประโยชน์กับการโค้ชได้อย่างไร ซึ่งวันนี้ขอแชร์มุมมองสองเรื่องต่อไปนี้ หนึ่ง ในฐานะโค้ช เราต้องเข้าใจก่อนว่า AI ทำอะไรได้บ้าง และสอง ศึกษาผลกระทบของ AI ในวงกว้าง
*สำหรับการโค้ช (Coaching) ในบทความนี้ เราหมายถึงการโค้ชที่กล่าวถึงในย่อหน้านี้เท่านั้น คือการโค้ชในแวดวงธุรกิจ การบริหารจัดการองค์กร เช่น โค้ชผู้บริหาร โค้ชในธุรกิจ โค้ชด้านการใช้ชีวิต และผู้ที่ถ่ายทอดทักษะการโค้ช หรือผู้ที่ใช้การโค้ชผสมผสานในการพัฒนาองค์กร พัฒนาผู้บริหารและบุคลากร ซึ่งไม่จำเป็นว่าท่านจะมีอาชีพเป็นโค้ชหรือไม่ หากท่านมีบทบาทในการโค้ชผู้อื่น เช่นผู้บริหาร ผู้จัดการที่โค้ชลูกทีม บทความนี้ครอบคลุมถึงบทบาทโค้ชดังกล่าวด้วย
อย่างไรก็ตาม เราขอยกเว้นการโค้ชในวงการกีฬา ในการแสดง และในวงการอื่นๆ เพราะเราไม่มีความรู้เกี่ยวกับการโค้ชด้านต่างๆ ในบรรทัดนี้)
1. AI ทำอะไร
ในด้านข้อมูล AI สามารถช่วยจัดหา และจัดระเบียบข้อมูลที่เราต้องการมาให้เรา แบบเฉพาะตัว (Personalization) ซึ่งดีกว่าการเสนอสิ่งที่เรากำลังค้นหามาให้เรา (Customization)
เช่น ถ้าเราต้องการไปพักร้อนที่นิวซีแลนด์ แต่เราไม่รู้จะไปเที่ยวที่ไหนบ้าง ที่เหมาะสมกับเวลาและงบประมาณที่เรามี ถ้าเราหาจาก เบราว์เซอร์ ต่างๆ เราก็จะได้เห็นลิงค์ขึ้นมามากมาย โดย Customize มาให้เราตามคีย์เวิร์ดที่เราใส่ แต่เราก็ยังคงต้องเข้าไปดูข้อมูลในแต่ละเวปไซต์ และคัดสรรข้อมูลออกมาด้วยตนเอง
แต่ถ้าเราถามคำถามอย่างถูกต้องเข้าไปใน ChatGPT หรือใช้พรอมท์ (Prompt) ที่ชัดเจน เราจะได้ข้อมูลที่จัดเรียงและคัดสรรพิเศษมาให้ตัวเราเลย (Personalize) ออกมาเป็นแผนการแต่ละวันในการไปเที่ยวที่นิวซีแลนด์ได้เลย พูดได้ว่า แผนออกมาละเอียดขนาดที่ว่า ตอนเช้าทำอะไร บ่ายทำอะไร เดินทางอย่างไร ค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไหร่ ร้านอาหารชื่ออะไร
ซึ่งแน่นอน หากนำมาใช้ในการทำงาน อะไรที่จัดมาให้เฉพาะเรา ก็จะทำให้เราประหยัดเวลา เพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ของตัวเราได้
อย่างไรก็ตาม เรายังคงต้องพิจารณาและตัดสินใจด้วยตนเอง เราควรมองว่า AI ทำหน้าเป็นผู้ช่วยคิด ถ้าเปรียบเทียบกับนักบิน ตัวเราก็คือกัปตันที่ทำหน้าที่ตัดสินใจเป็นหลัก และ AI ก็เปรียบเสมือนเป็น Co-pilot หรือ Flight Engineer ที่ช่วยให้ข้อมูลกับกัปตัน
การใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เราได้รับ เราจึงไม่ควรเป็นฝ่ายรับข้อมูลแล้วเชื่อทันที เราต้องมี Dialogue หรือ การสนทนาต่อ มีการตั้งคำถามใหม่ เพื่อพิจารณามุมมองที่เกี่ยวข้อง และต้องใช้ ทักษะ Critical Thinking คิดแบบใช้วิจารณญาณของเราเองด้วย
ปัจจุบัน มีการศึกษาในต่างประเทศที่กำลังพัฒนา Prototype ของ ManagementGPT ซึ่งพยายามจะใช้ AI เป็นตัวช่วยในสามเรื่อง คือ การพัฒนาผู้นำที่มีความรับผิดชอบ การพัฒนาแผนธุรกิจ และการวิเคราะห์ Stakeholders ให้ครบถ้วนมากพอ ซึ่งก็ต้องมาติดตามความสำเร็จกันต่อไป ว่าจะเป็นอย่างไร
สำหรับผู้ที่เป็นโค้ช ก็ควรคุ้นเคยกับข้อดี และสิ่งที่ยังต้องระมัดระวังเกี่ยวกับ AI เพราะคนที่เราไปโค้ช เขาก็มองโค้ชเป็น Co-pilot อีกคน ที่ไม่ได้ใช้แค่ Algorithm แต่ใช้ความรู้สึกและประสบการณ์ในบางเรื่อง ที่เขาอาจจะคาดไม่ถึง ช่วยให้เขาคิดให้รัดกุม รอบคอบ ผ่านคำถามและการสนทนากับโค้ช
เรามองว่า AI จะช่วยงานโค้ชได้มาก ในด้านการรวบรวมข้อมูลที่จัดมาเฉพาะที่เราต้องการ เช่น แผนการพัฒนาที่เหมาะกับบริบทของบุคคล สรุปย่อข้อมูลความรู้ที่ผู้ที่ได้รับการโค้ชสนใจ เป็นต้น
2. ผลกระทบของ AI
โค้ชสามารถติดตาม Trends ต่างๆ และศึกษาผลกระทบของเทคโนโลยี หากเราเป็นโค้ชที่ยึดหลักค่านิยมของสหพันธ์โค้ชนานาชาติ เราก็จะตระหนักดีว่า งานของโค้ชเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยสร้างสังคมที่ดีได้
โค้ชสามารถกระตุกความคิดให้ผู้ที่ได้รับการโค้ช (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นระดับจัดการ หรือบริหาร ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ) พิจารณานำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างคุณค่าให้ส่วนรวม มากกว่าเพื่อประโยชน์ของธุรกิจอย่างเดียว หรือเพื่อประโยชน์แบบระยะสั้น (Short-term) แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน ความเท่าเทียมกัน หรือประโยชน์ในระยะยาว
มีการศึกษาที่ระบุผลออกมาว่า คนรุ่นใหม่จะเลือกซื้อสินค้าและใช้บริการกับแบรนด์ที่มีมีความรับผิดชอบต่อสังคม ต่อโลกที่พวกเขาต้องใช้ชีวิตในอนาคต
โค้ชช่วยกระตุ้นมุมมองที่ว่า เทคโนโลยี ให้ข้อมูลเรา และข้อมูลก็ให้อำนาจ การใช้อำนาจนั้นเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และกับโลกใบนี้ จะส่งผลต่องานหรือธุรกิจขององค์กรอย่างไร
มีตัวอย่างของแอปพลิเคชั่น ในต่างประเทศ ที่ชื่อว่า Too Good To Go ซึ่งเป็นแอปฯ ที่ช่วยให้คนสองกลุ่มมาเจอกัน กลุ่มแรกคือร้านค้าที่แต่ละวันมีอาหารที่ขายไม่หมดมากมาย กับอีกกลุ่มคือผู้ซื้อที่ต้องการซื้ออาหารด้วยราคาที่ถูกลง ซึ่งแอปฯ นี้เป็นตัวอย่างในการช่วยให้เราลดสิ่งที่สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ข้อมูลจากเวปไซต์ The World Counts ระบุว่า ทุกวันนี้เราผลิตอาหารออกมามากกว่าที่คนจะบริโภคจริงๆ นั่นคือหนึ่งในสามของอาหารที่ผลิตออกมาไม่ได้รับการบริโภค ถ้าเราใช้ข้อมูลนี้มาช่วยให้การผลิตอาหารออกมาเท่าที่คนเราบริโภคจริงๆ ก็จะช่วยลดการปล่อยมลพิษ (Emission) จากกระบวนการ ได้มหาศาลมาก
โดยสรุปคือ AI จะเข้ามาแทนที่งานโค้ชหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมุมมองของโค้ชเอง หากมองในด้านประโยชน์ที่ AI จะช่วยทำให้เรามีผลิตภาพ (Productivity) สูงขึ้น เราก็จะเห็นแนวทางว่ามีงานหลายอย่างมากที่ AI ช่วยได้ โดยเรียนรู้การใช้งานอย่างมีวิจารณญาณ
และคำถามต่อไปที่สำคัญคือ โค้ชสามารถทำอะไรได้บ้างในขอบเขตงานของโค้ช ที่จะช่วยกระตุ้นหรือแม้แต่เป็นตัวอย่างที่ดี ในการนำเทคโนโลยีมาส่งเสริมการพัฒนา และสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดีในองค์กร สร้างสังคมและโลกที่น่าอยู่ และมีความยั่งยืนมากขึ้น
บทความโดย ดร. อัจฉรา จุ้ยเจริญ
แอคคอมกรุ๊ป
© Copyright – All rights reserved. ท่านสามารถแชร์ข้อมูลนี้ได้ เพื่อการพัฒนาตนเองและทีมงาน หรือเพื่อเป็นประโยชน์ต่อบุคคลทั่วไป
ข้อห้าม***** ห้ามนำไปใช้ในการสอนหรืออบรมโดยวิทยากรที่ไม่ได้รับการรับรองจากแอคคอมกรุ๊ป ห้ามนำข้อมูลไปใช้ในการประชาสัมพันธ์เวปไซต์ หรือสินค้าและบริการอื่นๆ หากท่านต้องการสอบถามเพิ่มเติมในการนำข้อมูลไปใช้ กรุณาติดต่อแอคคอมกรุ๊ปได้ที่ info@aclc-asia.com
Kommentarer